สรรพคุณของว่านหางจรเข้นั้น หลายคนมักคิดกันในเรื่องของแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก เนื่องจากวุ้นที่อยู่ในส่วนของใบของว่านหางจรเข้นั้น มีรสเย็น แก้อาการแสบคันและโรคที่เกิดจากความร้อนได้ชงัดนัก แต่หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า หากมีแผลเป็นฝี หนอง จะสามารถใช้ว่านหางจรเข้รักษาแผลที่เป็นหนองได้หรือไม่ เพราะจากงานวิจัยพบว่า ในน้ำยางของว่านหางจระเข้นี้มีสารอะโลอิน (aloin) ซึ่งสามารถดูดแสงอุลตราไวโอเลต (UltraViolate) อันเป็นช่วงแสงที่มีผลทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าแผลเป็นหนองจะมีตัวยาใดที่จะรักษาได้

สรรพคุณของว่านหางจรเข้โดยทั่วไปกันก่อนคือ

  • ใบ – รสเย็น ตำผสมสุรา พอกฝี
  • ทั้งต้น – รสเย็น ดองสุราดื่มขับน้ำคาวปลา
  • ราก – รสขม รับประทานถ่ายโรคหนองใน แก้มุตกิด
  • ยางในใบ – เป็นยาระบาย
  • น้ำวุ้นจากใบ – ล้างด้วยน้ำสะอาด ฝานบางๆ รักษาแผลสดภายนอก น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำให้แผลเป็นจางลง ดับพิษร้อน ทาผิวป้องกันและรักษาอาการไหม้จากแสงแดด ทาผิวรักษาสิวฝ้า และขจัดรอยแผลเป็น
  • เนื้อวุ้น – เหน็บทวาร รักษาริดสีดวงทวาร
  • เหง้า – ต้มรับประทานแก้หนองใน โรคมุตกิด

ว่านหางจระเข้กับแผลเป็นหนอง

นอกจากนี้ยังพบว่าสารอะโลอิน และสารอื่นที่ได้จากเปลือกใบของว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ยังยั้งเอ็นไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ใต้ผิวหนัง ถ้าเรามีเอ็นไซม์นี้มากไปก็อาจทำให้เกิดจุดด่างดำที่ผิวหนังได้ จึงมีการนำว่านหางจระเข้มาสกัด และผสมเป็นครีมกำจัดฝ้า และรอยด่างดำบนผิวหนังในรูปของเครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังนำมาผสมในแชมพูสำหรับบำรุงผม ช่วยป้องกันผมร่วงได้

ผู้เปิดม่านความลี้ลับของว่านหางจระเข้ด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ ดร.โซเอดะ โมโมเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิชีวนะสารที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยว่านหางจระเข้เมื่อ พ.ศ. 2540 โดยเธอได้นำสารละลายของว่านหางจระเข้มากรองแล้วนำไปแช่แข็ง จากนั้นก็สกัดให้เป็นผง แล้วจึงสกัดอีกครั้งด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ แล้วตรวจวัดทันที ก็พบมีสารตกตะกอนหลายชนิด หนึ่งในผลงานศึกษาของเธอคือ ได้ค้นพบสารใหม่ที่ออกฤทธิ์ของยาของว่านหางจระเข้อีกครั้ง

แต่เดิมทราบกันแต่ว่าว่านหางจระเข้มีสารอยู่สองชนิดคือ สารอะโลอิน กับสารอะโลไอโมติน แต่ ดร.โซเอดะ ได้ค้นพบสารใหม่อีก 3 ชนิด สารหนึ่งในสามนี้คือ อะโลติน ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและเชื้อรา อีกชนิดหนึ่งคือ สารอะโลมิติน มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก และสารชนิดสุดท้ายคือ สารอะโลอูรซิน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยสมานแผล โดยเฉพาะแผลเป็นหนอง หรือสิวบนผิวหนังที่มีลักษณะหนอง สิวหัวหนอง ได้อย่างชงัดนัก

หากผสมในสบู่ก็จะช่วยทำความสะอาดผิวหน้า ให้ความชุ่มชื้นไม่แห้งตึง ใบสดของว่านนำมาฝานหนาๆ แล้วทาปูนแดงใช้ปิดขมับ รักษาอาการปวดศีรษะ ดูดพิษ ทำให้เย็น แม้แต่รากและเหง้าของต้น ก็ยังสามารถนำมาต้มกินรักษาโรคหนองในอีกด้วย

ว่านหางจระเข้ยังนำมาทำเป็นอาหารพวกของหวาน ได้อร่อยไม่น้อย เช่น น้ำวุ้นมาทำลอยแก้ว หรือวุ้นแช่อิ่ม หรือนำมาปั่นทำเป็นน้ำว่านหางจระเข้ ดื่มเย็นๆ หอมหวานชื่นใจ วิธีการโดยนำใบที่โตเต็มที่มาปอกเปลือก ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด ต้มให้สุกแล้วนำมาปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียด เติมน้ำต้มสุกหรือน้ำต้มใบเตยหอม แล้วเติมน้ำเชื่อมเล็กน้อย ใส่น้ำแข็งดื่มได้ทันท ีหรือกรองด้วยผ้าขาวบางเก็บใส่ขวดไว้ในตู้เย็น ดื่มให้หมดภายใน 2 วัน มีสรรพคุณช่วยบำรุงสุขภาพร่างกาย เพิ่มความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าเวลาอ่อนเพลียพักผ่อนน้อย แถมยังช่วยให้ขับถ่ายคล่องตัว ไม่ท้องผูกด้วย